งานบริการการศึกษา
หน้าคำถามที่ถามบ่อย (FAQ) รวมคำถามที่ถามบ่อย รวมถึงคำตอบสำหรับการเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
1. ข้อสอบมีจำนวนกี่วิชา ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
ตอบ: มีจำนวนทั้งหมด 3 วิชา ประกอบไปด้วย
1) วิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ (60 %)
2) วิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (20 %) และ 3) วิชาภาษาอังกฤษ (20 %)
2. วิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
ตอบ: วิชานี้ ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่
1) คณิตศาสตร์พื้นฐาน (30 %) และ
2) ทักษะการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาและการเขียนโปรแกรม (30 %) โดยทั้งสองส่วนมีสัดส่วนคะแนนที่เท่ากัน และมีเนื้อหาดังนี้
2.1) คณิตศาสตร์พื้นฐาน เป็นข้อสอบที่ทดสอบความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อันได้แก่
ทฤษฏี จำนวน เซ็ต ฟังก์ชั่น เรขาคณิต พีชคณิต/เวกเตอร์ เมทริกซ์ แคลคูลัส คณิตศาสตร์เชิงการจัด และ ตรรกศาสตร์
2.2) ทักษะการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาและการเขียนโปรแกรม เป็นข้อสอบที่วัดทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนและประกอบอาชีพ
ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันได้แก่
2.2.1) ทักษะการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา (Analytical and Problem Solving Skills)ในส่วนนี้ จะเป็นการทดสอบ
ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยทักษะการคำนวณ การใช้เหตุผล และการ
จับใจความสำคัญ (คิดเป็นร้อยละ 20-25 จากคะแนนของทุกวิชาที่สอบรวมกัน)
2.2.2) ทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Programming Skill) เป็นการทดสอบความรู้และทักษะการ
เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น (คิดเป็นร้อยละ 5-10จากคะแนนของทุกวิชาที่สอบรวมกัน)
3. ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ ต่างจากข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ของการสอบรับตรงในปีการศึกษาที่ผ่านมาอย่างไร?
ตอบ: ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ประกอบไปด้วย 2 ส่วน โดยส่วนแรก (คณิตศาสตร์พื้นฐาน)มีเนื้อหาและแนวข้อสอบใกล้เคียงกับข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ในปีที่ผ่าน ๆ มา หากแต่มีการลดคะแนนเต็มจากเดิม 40%เหลือ 30% และได้ทำการเพิ่มเติมข้อสอบในส่วนที่สองซึ่งเป็นการวัดทักษะการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาและการเขียนโปรแกรม อีก 30% รวมคะแนนของวิชานี้เป็น 60% (วิชาคณิตศาสตร์เดิมมีคะแนนเต็ม 40%) และขยายเวลาในการสอบจากเดิม 2 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมง
4. ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ในส่วนที่สอง (ทักษะการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาและการเขียนโปรแกรม) มีลักษณะข้อสอบเป็นอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไรในการสอบ?
ตอบ: ข้อสอบในส่วนนี้เป็นการวัดการวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยทักษะการคำนวณ การใช้เหตุผล และการจับใจความสำคัญ ดังนั้นพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ การใช้เหตุผลหรือตรรกะ และการอ่านวิเคราะห์เพื่อจับใจความสำคัญ จะเป็นสิ่งสำคัญในการทำข้อสอบ การเตรียมตัว นอกเหนือจากการทำความเข้าใจพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และการประยุกต์ใช้แล้ว อาจศึกษาทำความเข้าใจแนวข้อสอบจากตัวอย่างข้อสอบแข่งขันทางคอมพิวเตอร์ระดับชาติ หรือข้อสอบในลักษณะเดียวกันนี้จากสถาบันหรือศูนย์สอบวัดทักษะที่คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ บางส่วนของข้อสอบในหมวดนี้ จะเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น
5. วิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีเนื้อหาอะไรบ้าง? และต้องเตรียมตัวอย่างไร?
ตอบ: เป็นข้อสอบที่วัดความรู้และความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบไปด้วยเนื้อหาในด้านต่าง ๆ อันได้แก่ ด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการฯ ระบบฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย เทคโนโลยีเว็บ และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
การเตรียมตัวทำได้โดยการศึกษาจากเอกสารตำรา ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนในวิชาด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และแหล่งค้นคว้าที่เชื่อถือได้อื่น ๆ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การประกวดแข่งขัน หรือการวิจัย ทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
6. ทำไมวิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีสัดส่วนคะแนนลดลงจากการสอบในปีการศึกษาที่ผ่านมา?
ตอบ:เนื่องจากความสำคัญของทักษะการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ต่อความสำเร็จในการเรียนและการทำงานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีการเพิ่มเนื้อหาข้อสอบในส่วนนี้ และได้นำเอาหัวข้อการแก้ไขปัญหาและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของข้อสอบวิชาคอมพิวเตอร์ฯ ในปีที่ผ่านมา ไปไว้รวมอยู่ในวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ แทน ทำให้สัดส่วนคะแนนของวิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศลดลงจากเดิม
7. ทำไมวิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีหัวข้อวัดความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลย?
ตอบ: หัวข้อดังกล่าว ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของวิชาความรู้ทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของปีที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการวิเคราะห์ แทน